กองทัพดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ผมมีโอกาสได้ไปสัมผัสกับแหล่งโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ในตำบลหลินถง เมืองซีอาน มณฑลฉ่านซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2530 แหล่งโบราณคดีนี้มีชื่อว่า สุสานฉินสื่อหวง (Qin Shihuang Mausoleum) ซึ่งเป็นสุสานของจักรพรรดิฉินที่ 1 แห่งราชวงศ์ฉินผู้สร้างกำแพงเมืองจีน หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามของ “จิ๋นซีฮ่องเต้” สุสานแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยฉินสื่อหวง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 38 ปี คือระหว่างปี 246-208 ก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2,200 กว่าปีมาแล้ว สุสานแห่งนี้มีเนื้อที่ครอบคลุมทั้งสิ้น 2,180 ตารางกิโลเมตร มีทำเลที่ตั้งอยู่อิงบริเวณเขาหลีซาน บริเวณด้านหน้าของสุสานหันไปทางแม่น้ำเว่ยเหอ โดยเฉพาะทางทิศใต้ของเขาหลีซานอุดมไปด้วยสินแร่ทองคำ ส่วนทางทิศเหนือก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่หยก ดังนั้นฉินสื่อหวงจึงทรงเลือกชัยภูมิที่มีฮวงจุ้ยอันดีเลิศนี้ เพื่อเป็นสุสานสำหรับฝังพระบรมศพของพระองค์เอง โดยมีสุสานกองทัพดินเผาอยู่ห่างจากสุสานฉินสื่อหวงราว 1.5 กิโลเมตร ทั้งหมดถูกฝังอยู่ภายใต้ผืนแผ่นดินจีน พร้อมกับพระบรมศพของฉินสื่อหวง (วิกิพีเดีย)
ผมขอเข้าสู่ประเด็นในส่วนของสุสานกองทัพดินเผา (Qinshihuang Terra-Cotta Army) ซึ่งคำว่า terra-cotta นั้นเป็นภาษาอิตาเลียน หมายถึงดินเผา (baked earth) หรือมาจากภาษาลาตินหมายถึงเครื่องดินเผา (earthenware) สุสานกองทัพนี้ปั้นจากดินเหนียวเป็นรูปหุ่นทหารและหุ่นม้าขนาดเท่าตัวจริงแล้วเผาและจัดเรียงเป็นกองทัพซึ่งจนถึงปัจจุบันได้ขุดค้นพบไปแล้วจำนวน 8,099 ชิ้น และอยู่ระหว่างการขุดค้นเพิ่มเติมต่อไปอย่างต่อเนื่อง รูปปั้นกองทัพดินเผาเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อพิทักษ์องค์จักรพรรดิฉินสื่อหวงหลังการสวรรคตปัญหาที่นักโบราณคดีให้ความสนใจก็คือ ดินเหนียวที่ใช้ในการปั้นนี้มาจากกี่แหล่งและนำมาจากแหล่งใดบ้าง
นักโบราณคดีจาก Chinese Academy of Science ได้นำชิ้นตัวอย่างดินเผาของกองทัพทหารและม้าไปวิเคราะห์ทางเรณูวิทยา เพื่อศึกษาองค์ประกอบของละอองเกสรของพืชในเนื้อของดินเผา โดย Ya-Qin Hu และคณะ ได้ค้นพบละอองเกสรหลายชนิดจากหุ่นดินเผาของม้า ทั้งหมดมาจากไม้ยืนต้น เช่น ละอองเกสรของสนไพน์ สลัดได หม่อน และแปะก๊วย ขณะที่ในหุ่นดินเผาของเหล่าทหารนั้นพบละอองเกสรของพืชล้มลุกจำพวกมัสตาร์ดและกะหล่ำปลี ชิงเฮาหรือโกฐจุฬาลำพา ควินหวา บีทรูท ชาร์ด และปวยเหล็ง
Hu และคณะได้สรุปผลงานวิจัยนี้ว่า หุ่นดินเผาของม้ารวมถึงส่วนของขาที่เรียวยาวของมันที่ง่ายต่อการแตกหักจากการขนย้ายนั้นถูกสร้างขึ้นจากโรงเผาที่ไม่ไกลจากสุสานมากนัก ขณะที่หุ่นทหารนั้นปั้นจากดินเหนียวจากแหล่งที่ห่างไกลออกไป นับได้ว่า เรณูวิทยา (palynology) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีความสำคัญโดดเด่นไม่เฉพาะเพื่อการศึกษาทางโบราณคดีเท่านั้นแต่รวมถึงทางด้านธรณีวิทยาด้วย ซึ่งสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ได้บรรจุวิชาเรณูวิทยาไว้ในร่างหลักสูตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาบรรพชีวินวิทยาไว้ด้วย อาจพร้อมเปิดสอนได้ในปีการศึกษา 2556 นี้ จริงๆ แล้วเรณูวิทยาไม่ได้ศึกษาเฉพาะละอองเกสรเท่านั้น แต่ยังรวมถึง สปอร์ สาหร่ายเซลล์เดียว อาร์คิตาร์ช ไดโนแฟก-เจลเลตซีสต์ ไคตินโนซัว และอนุภาคของอินทรียวัตถุอื่นๆ ซึ่งมีประโยชน์มากในการศึกษาสภาพแวดล้อมบรรพกาล ประวัติวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อมของการตกสะสมตัวของตะกอนละอองเกสรของพืช จากเนื้อเศษชิ้นส่วนตัวอย่างรูปปั้นดินเผา ทำให้ทราบว่ารูปปั้นนักรบและรูปปั้นม้านั้นปั้นจากดินเหนียวจากแหล่งที่แตกต่างกัน
แหล่งอ้างอิง :
Hu Y-Q., Zhang Z-L., Bera S., Ferguson D.K., Li C-S., Shao W-B.,Wang Y-F.
(2007) What can pollen grains from the Terracotta Army tell us? Journal
of Archaeological Science 34(7): 1153-1157.
จากจดหมายข่าว Khorat Fossil Museum News ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 ประจำเดือนธันวาคม 2555