วันเสาร์, 18 มกราคม 2568

ความเป็นมา

         

ประวัติความเป็นมา       

          สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีกำเนิดมาจากการประชุมสัมมนาระดับจังหวัดในเรื่อง “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโคราชในทศวรรษหน้า” ที่โรงแรมสีมาธานี เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2537 ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครราชสีมาขณะนั้น เป็นผู้อภิปรายถึงสถานการณ์วิกฤติของไม้กลายเป็นหิน พร้อมทั้งเสนอโครงการอนุรักษ์ในรูปของอุทยาน และพิพิธภัณฑ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายสุพร สุภสร ซึ่งร่วมประชุมอยู่ด้วย ได้ประกาศสนับสนุนการอนุรักษ์ตามโครงการดังกล่าวและได้อนุมัติงบประมาณ 1 ล้านบาท ให้กับสถาบันราชภัฏนครราชสีมา จัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์และออกแบบพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินขึ้น

         พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ก่อเกิดบนที่ดิน จำนวน 80.5 ไร่ ที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้ประโยชน์จาก อบต.สุรนารี ทำให้มีการลงทุนโครงการในช่วงที่ผ่านมารวมกว่า 180 ล้านบาท ส่วนสำคัญเกิดจากความสนพระทัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การสนับสนุน โดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และจากการประสานงานของนายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รวมทั้งการสนับสนุนจากจังหวัดนครราชสีมา เพื่อการจัดนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งถนนและงานภูมิทัศน์สำหรับหน่วยงานอื่นที่สนับสนุน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานโยธาธิการจังหวัด ททท.นครราชสีมา อบต.สุรนารี เป็นต้น

 

ปณิธานและอัตลักษณ์

ปณิธาน
           เป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ก้าวไกลโกลบอลจีโอพาร์ค (Global Geopark) สู่แดนดิน 3 มงกุฎ
ของยูเนสโก (UNESCO Triple Crown)

 

อัตลักษณ์
           อนุรักษ์ บริการวิชาการ และวิจัยฟอสซิลถิ่นไทย

 

ปรัชญา

          เรียนรู้อดีต... เข้าใจปัจจุบัน...จินตนาการอนาคต

          Learning from the past... understanding the present and imagining the future

วิสัยทัศน์

          สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ จะเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัย การเรียนรู้และบริการวิชาการด้านบรรพชีวินในระดับชาติและนานาชาติ และจะเป็นศูนย์กลางการบริหารอุทยานธรณีโคราชระดับโลกของยูเนสโก (UNESCO GLOBAL GEOPARK)  รวมทั้งจะเป็นผู้นำของโลกด้านพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและช้างดึกดำบรรพ์ และผู้นำของอาเซียนด้านพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์

 

พันธกิจ

          1) สำรวจ รวบรวม อนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์และทรัพยากรธรณีของท้องถิ่น

          2) ศึกษาวิจัย นำเสนอผลงานวิจัย ด้านซากดึกดำบรรพ์และทรัพยากรธรณี

          3) บริการทางวิชาการด้านซากดึกดำบรรพ์ ทรัพยากรธรณีและอุทยานธรณี (Geopark)

          4) บริหารและพัฒนาสถาบันสู่การเป็นศูนย์กลางองค์กร “อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก” หรือ “The UNESCO Global Geopark”  ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา