พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์
อาคารพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ จัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ของช้างและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
จุดที่ 1 ห้องวีดิโอช้างดึกดำบรรพ์โคราช แสดงเรื่องราวของช้างดึกดำบรรพ์และบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างๆ ของโคราช นักท่องเที่ยวจะได้เห็นสภาพแวดล้อมสมัยโบราณที่ช้างดำรงชีวิตอยู่ โดยจำลองจากแหล่งที่พบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ชนิดต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งสัตว์ร่วมยุคและการสูญพันธุ์ของช้างดึกดำบรรพ์
จุดที่ 2 โครงกระดูกช้างพลายยีราฟ เป็นช้างเอเชียปัจจุบันที่มีชิ้นส่วนโครงกระดูกที่สมบูรณ์โดยมีความสูงมากถึง 3 เมตร คาดว่าน่าจะเป็นช้างปัจจุบันที่มีขนาดสูงที่สุดในประเทศไทย
จุดที่ 3 ฟอสซิลฟันกรามช้างดึกดำบรรพ์จากต่างประเทศ เป็นฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์พม่า พบแถบเขตชายแดนทางภาคเหนือของพม่าหรือแถบแม่น้ำอิระวะดี และฟอสซิลช้างในเขตหนาวจัดแสดงอยู่ 2 สกุล คือ ช้างมาสโตดอนอเมริกา และช้างแมมมอธ
จุดที่ 4 จุดแสดงวิวัฒนาการของช้างดึกดำบรรพ์ถึงช้างปัจจุบัน โดยมีต้นกำเนิดมาจากมีริธีเรียม อายุประมาณ 65 ล้านปี พบที่โมร็อกโค ไม่มีงวง ไม่มีงา ลักษณะคล้ายหมูหน้าตาคล้ายสมเสร็จต่อมาก็เริ่มมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ เริ่มมีขนาดสูงใหญ่ขึ้น เริ่มมีงวง มีงา มีทั้งสองงาและสี่งา ทั่วโลกมีช้างดึกดำบรรพ์ทั้งหมด 55 สกุล จาก 180 กว่าสายพันธุ์ ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมาพบถึง 10 สกุล ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือช้างเอเชียและช้างแอฟริกา
จุดที่ 5 แสดงฟอสซิลฟันช้างดึกดำบรรพ์โคราช จากแหล่งที่พบบ่อดูดทราย ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา อายุประมาณ 16 ล้านปีก่อน จนถึง 10,000 ปีก่อน ขุดพบทั้งหมด 10 สกุลจาก 55 สกุลที่พบทั่วโลก นับได้ว่านครราชสีมาเป็นแหล่งช้างดึกดำบรรพ์หลากหลายสกุลที่สุดในโลก
จุดที่ 6 แสดงฟอสซิลสัตว์ร่วมยุคกับช้างดึกดำบรรพ์ มีทั้งที่เป็นสกุลใหม่ชนิดใหม่ของโลก เช่น เอปโคราช แรดไร้นอ หมูป่าโบราณ และยังมียีราฟคอสั้น ม้าสามนิ้ว จระเข้ ตะโขง เต่า และสัตว์วงศ์วัวอีกด้วย
จุดที่ 7 แสดงงาช้างกลายเป็นหิน จัดแสดงงาช้างที่กลายเป็นหินหลายคู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางคู่ยาวถึง 3 เมตร มีความสมบูรณ์มาก นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดการเข้าชมจุดนี้
จุดที่ 8 โครงกระดูกช้างแมมมอธจากประเทศจีน ฟอสซิลจริงถูกพบในมองโกเลีย ประเทศจีน เป็นแมมมอธในเขตอบอุ่นที่มีความสูงถึง 5 เมตร ซึ่งคาดว่าเป็นแมมมอธที่สูงมากที่สุดในโลก